“แม่ครูราตรีศรีวิไล” ศิลปินแห่งชาติผู้บุกเบิกหมอลำกลอนประยุกต์สู่ลำซิ่งแห่งยุค

หมอลำคือจิตวิญญาณของชีวิตลูกอีสานที่นำหลายเรื่องราวถ่ายทอดออกมาเป็นลำนำเพลงพื้นบ้านที่เล่นบนพื้นในบ้านจริงๆ นิยามจุดเริ่มต้นที่แม่ราตรี หรือแม่ครูราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร  ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำประยุกต์) ปี พ.ศ. 2565 จากจังหวัดขอนแก่น ผู้ที่คลุกคลีกับการฝึกร้องหมอลำมาตั้งแต่อายุ 13 ปี วันนี้แม่ราตรีสั่งสมประสบการณ์มาบอกเล่าถึงความเป็นมาของรากเหง้าหมอลำที่แท้จริง เมื่อไหร่ที่ได้ยินก็ปลุกความเป็นคนอีสานของคุณได้ทุกเมื่อ

 

“หมอลำเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ของคนภาคอีสาน เป็นสื่อที่เข้าใจง่าย คำว่า ‘หมอลำ’ มาจากหมอที่หมายถึงผู้เชี่ยวชาญ เหมือนหมอรักษาคน หมอผี ลำคือการแสดงแบบอีสาน ฟ้อนอีสาน พอจังหวะทำนองมารวมกันเป็นคำว่าหมอลำ ซึ่งตามตำราสันนิษฐานมาจากลำไม้ไผ่ ลำน้ำ ลำคลองที่ยาวๆ เหมือนกับกลอนต้องท่องให้ได้ ร้องหัวค่ำยันสว่าง ไม่ลำคำเดิม มาบวกกันแล้วคือผู้เชี่ยวชาญด้านการลำ”

 

แม่ราตรีย้อนถึงวันที่ยังเป็นเด็กน้อย “แม่เกิดทันหมอลำพื้น เป็นการลำถึงนิทานพื้นบ้านอีสาน ครอบครัวนั้นครอบครัวนี้เป็นกลอนลำ แล้วยังเป็นการบอกว่านั่งลำอยู่กับพื้นด้วย เอาสาดมาปูพื้น ข้างเสื่อเจาะสี่ข้าง เอาขี้กระบอง ขี้ไต้วาง จะมีคนที่ฟังลำก็เขี่ยขี้ไต้ไป ให้ไฟลุกให้เห็นหน้าหมอลำตลอด ใครที่เขี่ยขี้กระบอง จมูกเขาจะเป็นสีดำๆ หมด เพราะมันมีควัน ถ้าไม่ทำจะไม่ได้ฟัง เพราะไม่เห็นตัวหมอลำ”

 

“จากลำพื้นที่มีคนเดียวลำอยู่ทั้งคืน เพราะภูมิปัญญาเขาเก่ง คนก็ฟังทั้งคืน ต่อมากลายเป็นหมอลำกลอน เป็นผู้หญิงผู้ชายลำคู่กัน ตอบโต้กัน เจ้าถามมา ข้อยตอบไป แล้วก็มีหมอแคนคนเดียว ลำแล้วก็ฟ้อนเกี้ยวกัน สามทุ่มยันสว่าง ต่อมาแตกแขนงเป็นหมอลำเรื่องต่อกลอน มีบุคลากรเป็นคณะ มีตัวละคร พระเอกนางเอกตัวพ่อตัวแม่”

 

ยุคเปลี่ยนผ่านเข้าสู่หมอลำกลอนประยุกต์

“จากลำกลอน พอประยุกต์มีดนตรีเข้ามาผสมผสาน มีแดนเซอร์หางเครื่อง ดนตรีเล็กๆ เริ่มต้นการเปลี่ยนอยู่ที่ พ.ศ. 2527-2529 เพราะยุคนั้นเป็นยุคคนหนุ่มไฟแรง มีงานทำ ลูกหลานเรียนหนังสือ ไปเป็นข้าราชการ ไปทำงานเมืองนอก ได้เงินเดือนมีทุน มีบุญมาสร้างงานที่บ้าน ไปจ้างหมอลำก็เป็นยุคคนหนุ่ม เขาก็บอกอยากได้สนุก ไม่เอาแคนอันเดียว ให้เอาแบบประยุกต์ เราก็ขึ้นป้ายหมอลำกลอนประยุกต์ มีหมอลำ 2 คน หางเครื่อง 4 คนและวงดนตรี แต่คนชมหน้าเวทีจะเป็นวัยกลางคนลงมาวัยรุ่น กลายเป็นคนหนุ่มมาฟ้อนหน้าเวที เพราะสนุกสนาน ส่วนมากเป็นผู้ชาย ผู้บ่าววัยรุ่นเยอะ ขอเพลงนู่นนี่ ของแม่ราตรีเราปรับกลอนให้ทันสมัย เอาทำนองลำ หมอลำลูกทุ่ง เน้นจังหวะ แม่แต่งกลอนลำเองให้ลูกศิษย์ แต่ไม่เร็วเหมือนปัจจุบัน สบายๆ ไม่เร็วมาก คนหนุ่มลุกขึ้นฟ้อนตามๆ กัน คือม่วนแท้ เขาบอกให้ไปจ้างแม่ราตรีเด้อ ข้อยซิ่งดี กลายเป็นหมอลำกลอนซิ่ง โดยคนหน้าเวทีเป็นคนเรียก

 

แม่ราตรีถือว่าเป็นคนที่ปลุกให้หมอลำเข้ามาอยู่ในกระแส มีแต่คนอยากมาเรียนเป็นหมอลำยึดเป็นอาชีพ “หมอลำกลอนคนจ้างน้อยลง กลายเป็นหมอลำซิ่งที่คนเริ่มกลับมามีงานทำ มาปรับตัวเองเป็นหมอลำกลอนประยุกต์หรือหมอลำซิ่ง มีคนมาเรียนเยอะ แม่ตั้งโรงเรียนมีคนมาเรียนเป็นร้อยๆ คนต่อปี แม่ไม่ได้เรียนหนังสือ เป็นหมอลำตั้งแต่อายุ 13 เพราะพ่อแม่ก็เป็นศิลปินหมอลำทั้งครอบครัว ไม่ให้เรียนหนังสือ ให้เป็นหมอลำอย่างเดียว” ความเชี่ยวชาญในงานที่รักของแม่ราตรีทำให้ได้รับทุนเรียนจนจบปริญญาเอก วันนี้ใครๆ ก็เรียกแม่ว่าเป็น “หมอลำด็อกเตอร์” ผู้ที่บุกเบิกยุคหมอลำกลอนประยุกต์มาจนถึงปัจจุบัน

 

“เสน่ห์ของหมอลำคือรากเหง้า ถ้าเราร้องเพลงเยอะ ใครก็ร้องได้ ถ้าร้องแต่เพลง ไม่มีพื้นฐานรากเหง้า อย่างหมอลำกลอนก็จะมีโอละน้อ มีลำเต้ย มีลำทั้งสั้น ลำยาว นี่คือรากเหง้าหมอลำ เราต้องเก็บตรงนี้ให้ได้ ถ้าถามว่าเจ้าร้องหมอลำ เจ้าร้องโอละหนอเป็นบ่ ถ้าบ่เป็น บ่แม่นหมอลำ ไม่ต้องเรียกหมอลำเลย ถ้าเข้าถึงรากเหง้าได้ แต่จะเอาอย่างอื่นมาผสมผสานก็ต่อยอด จะเอาเพลงเข้ามาก็ได้ คนยุคใหม่จะลำไม่ค่อยได้ เพราะต้องเอื้อนเสียงยาว ความอดทนสำคัญ ใจจะขาด คนยุคใหม่เลยเรียนน้อยที่สุด นี่คือรากเหง้า จิตวิญญาณคนอีสานที่หล่อเลี้ยงให้คนสะอื้นสะออน”

 

“หมอลำเป็นส่วนที่ไม่มีหน่วยงานไหนบอกว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้เหมือนระบบการศึกษา ถ้าเราหยุดก็คือทิ้งวัฒนธรรม ศิลปะการแสดง เราต้องหากลยุทธ์ปรับตัว ไม่มีใครบอกว่าคุณจะอยู่รอด เพราะหมอลำเป็นสิ่งที่ต้องปรับตัวเก่งที่สุด เก่งด้วยภูมิปัญญา ไม่ใช่เก่งแบบมีใครมาแนะนำ พ่อแม่ของเราอบรมสั่งสอนมาแบบไม่ทิ้งรากเหง้า”

 

และความภาคภูมิใจสูงสุดของแม่ราตรีมากจากส่วนลึกของหัวใจที่มีความสุข จากการได้สอนลูกสอนหลาน เป็นต้นกำเนิดของหมอลำประยุกต์ เป็นผู้เริ่มต้น ผู้สืบสาน มากกว่าความภาคภูมิใจที่ได้ทำในสิ่งที่เรารักตั้งแต่อายุ  13 ปี เราเรียนแต่หมอลำอย่างเดียว มันสนุก ได้อนุรักษ์วัฒนธรรม เราเชื่อ และเรามีใจรัก ในครอบครัวก็สนุก พอแสดงหน้าเวที ได้คนชมซึมซับเข้าหากัน ตามมาจ้างไปช่วยงาน เรามีความสุขที่ได้รับผิดชอบได้ต่อยอดอนุรักษ์วัฒนธรรม ต่อยอดให้เด็กรุ่นหลาน และที่สุดเลยคือการได้รับรางวัลระดับชาติ ยิ่งใหญ่ที่สุดกับ “ศิลปินแห่งชาติ” เป็นความสูงสุดของชีวิต”

 

ถึงตอนนี้แม่ราตรีได้พิสูจน์ให้คนรุ่นใหม่เห็นแล้วว่าหมอลำหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ สร้างความสุข ได้แสดงออกถ่ายทอดเรื่องราว ให้ทุกอย่างกับคนอีสาน “เราอุ่นใจที่ได้สอนลูกศิษย์ไว้เยอะ คิดว่าหมอลำต้องไม่หายจากภาคอีสานและไม่หายจากประเทศไทยแน่นอน ลูกหลานคนรุ่นใหม่ลองมาเรียนศิลปะการแสดงหมอลำ ดนตรีหมอแคนที่ประกอบการแสดงหมอลำ เพราะนี่เป็นอาชีพที่ทำให้มีรายได้จุนเจือครอบครั ฝากถึงคนที่จะจ้างไปชม อยากให้คิดถึงหมอลำ ความสนุกที่คุณจะได้รับ วันนั้นคุณสามารถลืมเรื่องทุกข์เรื่องยาก เราได้ถ่ายทอดความสุข คนชมสนุก เราเหมือนพี่น้องได้พูดจาปราศรัย เป็นความอบอุ่น เป็นจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ คุณยิ้ม ฉันยิ้ม ฟ้อนรำหน้าเวที เราเข้าใจส่วนลึกของจิตวิญญาณกันและกัน”

 

#PlaraMorLam24

#ISANToTheWorld

#ปลาร้าหมอลำอีสานสู่โลก