หมอลำ เติบโตไกลกว่าขอบเขตของภาคอีสาน

หมอลำเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่สืบทอดมายาวนานในภาคอีสานของประเทศไทย ต้นกำเนิดของหมอลำสามารถย้อนกลับไปในยุคที่การลำเป็นการสื่อสารเรื่องราว ความเชื่อ และประสบการณ์ชีวิตของชาวบ้าน ผ่านการขับร้องแบบด้นสด ช่วงเริ่มแรก หมอลำเป็นการแสดงที่เน้นการเล่าเรื่องพื้นบ้านหรือเหตุการณ์ในชุมชน โดยมีดนตรีจาก “แคน” เป็นเครื่องดนตรีหลักที่ประกอบการขับร้อง จนเมื่อเวลาผ่านไป หมอลำได้พัฒนาเป็นการแสดงที่มีความหลากหลายมากขึ้น มีรูปแบบ “ลำเรื่องต่อกลอน” เพิ่มความสนุกสนานและเนื้อหาที่ซับซ้อนมากขึ้น เนื้อเรื่องขยับขยายหลากลาย เกี่ยวข้องกับความรัก ความเชื่อ หรือเหตุการณ์สำคัญในสังคม มากกว่านั้นหมอลำยังไม่จำกัดตัวเองเป็นแค่การแสดง แต่ยังเป็นช่องทางสื่อสารทางสังคมที่ชาวบ้านใช้เพื่อแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรื่องราวในชุมชนอีกด้วย

ปัจจุบัน หมอลำได้เติบโตไปไกลกว่าขอบเขตของภาคอีสาน โดยมีการนำเสนอในเวทีระดับชาติและระดับโลก รวมถึงการแสดงหมอลำยุคปัจจุบันยังได้ผสมผสานกับดนตรีสมัยใหม่ เช่น ดนตรีป็อปหรือดนตรีลูกทุ่ง สร้างความหลากหลายและเข้าถึงผู้ชมมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาให้หมอลำเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาล ศิลปะวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มหันมาสนใจและเข้าใจหมอลำมากยิ่งขึ้น

แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่หมอลำยังคงเป็นศิลปะที่สะท้อนวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวอีสานอย่างชัดเจน

ในงาน PlaraMorlam Isan to the World ในวันที่ 26-29 ธันวาคม 2567 นี้ เราได้คัดสรรการแสดงหมอลำรูปแบบที่หลากหลายมานำเสนอให้ผู้คนได้สัมผัส สนใจแบบดั้งเดิมก็ติดตามได้ สนใจแบบร่วมสมัยก็มีให้ชม หรือสนใจบันเทิงเถิดเทิงก็มีให้ม่วน ให้จอยกันอย่างแน่นอน

#PlaraMorLam24

#ISANToTheWorld

#ปลาร้าหมอลำอีสานสู่โลก